รถไฟความเร็วสูง : ความก้าวหน้าที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

30 ตุลาคม 2562

รถไฟความเร็วสูง เป็นเทคโนโลยีระบบรางที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม โลจิสติกส์ และคุณภาพชีวิตในศตวรรษที่ 21 พัฒนาการของรถไฟความเร็วสูงมีความหมายต่อการลดต้นทุน การดูแลสิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อน ช่วยขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนายุคใหม่ อย่างมีนัยสำคัญ!

เมื่อเทียบกับระบบการคมนาคม-ขนส่ง-โลจิสติกส์ที่มีอยู่ทั่วไป แม้ว่าโลกกำลังจะก้าวล้ำไปอีกขั้น จากการพัฒนาการเดินทาง-การคมนาคมยุคใหม่ด้วย ไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ที่มีความเร็วเหนือเสียงก็ตาม!

กรณีประสิทธิภาพความก้าวหน้าของรถไฟความเร็วสูงนี้ ศึกษาได้จากหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะกรณีของประเทศจีน ญี่ปุ่น และกลุ่มยุโรป ซึ่งจะพบว่ารถไฟความเร็วสูงนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศข้างต้นอย่างมาก โดยเฉพาะ ด้านการลดต้นทุน การดูแลสิ่งแวดล้อม และการขจัดความเหลื่อมล้ำในการเติบโตพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น!

กรณีการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน

จีนเริ่มใช้รถไฟความเร็วสูงครั้งแรกราวทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้นเอง แต่รัฐบาลจีนตระหนักเห็นความสำคัญของระบบรางและการพัฒนารถไฟความเร็วสูงมาก ในการที่จะนำมาช่วยพัฒนาการคมนาคมขนส่งในประเทศ ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงินตรา เวลา และต้นทุนในการเดินทางและระบบโลจิสติกส์

การเร่งพัฒนา-ขยายเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองด้วยรถไฟความเร็วสูงจนถึงปัจจุบัน ทำให้จีนมีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองทั้งสิ้นกว่า 30,000 กิโลเมตร การพัฒนาการเดินทาง คมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน โดยพื้นฐานไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อแสวงกำไรหรือสร้างธุรกิจจากกิจการดังกล่าว! แต่รัฐบาลจีนใช้ระบบรางและรถไฟความเร็วสูงมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ให้การพัฒนากระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ โดยมุ่งทำให้ความเจริญและเศรษฐกิจกระจายไปสู่เมืองบริวาร เมืองเล็กๆ ได้เติบโตขึ้นท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่จัดทำขึ้น

รถไฟความเร็วสูง ยังช่วยปรับฐานการเดินทาง-คมนาคม-โลจิสติกส์ให้มีการการเข้าถึงระบบตลาด ช่วยเชื่อมโยงให้เข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและผลผลิต ตลอดจนช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว ช่วยสร้างงานในท้องถิ่น และเพิ่มการลงทุนในแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้การพัฒนาเมืองทั้งกระบวนระบบกระจายตัว-เติบโตอย่างทั่วถึง และอย่างที่ทั่วโลกได้รับรู้กันอยู่ จีนประสบความสำเร็จการโครงสร้างพื้นฐานนี้อย่างมาก

การพัฒนารถไฟความเร็วสูงในจีน ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองและการพัฒนาประเทศ จึงเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นของประเทศจีนอย่างยิ่ง โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากได้เรียนรู้การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงจากเยอรมนีแล้วนำมาต่อยอด จนปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในด้านการผลิตตู้ ราง อุปกรณ์ อาณัติสัญญาณ และระบบรถไฟความเร็วสูง ที่ปัจจุบันมีผลงานให้เห็นไปทั่วโลก

เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่ใช้รถไฟความเร็วสูงขยายและกระจายการเติบโตของเมือง ช่วยปรับลดต้นทุนการคมนาคม ขนส่ง รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เศรษฐกิจภายในประเทศกระจายตัว มีศักยภาพในการแข่งขัน ฯลฯ รถไฟความเร็วสูงจึงเป็นเทคโนโลยีในระบบคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ ที่สังคมโลกกำลังเร่งพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความก้าวหน้าและการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน!

สำหรับประเทศไทย รถไฟความเร็วสูงสายแรก สนามบินอู่ตะเภา-สนามบินดอนเมือง เป็นรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์ที่จะช่วยยกระดับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาที่จะมาลดความเหลื่อมล้ำจากการเติบโตแบบกระจุกตัวเช่นที่เป็นมาแต่อดีต! ซึ่งระบบรถไฟความเร็วสูงยุคใหม่นี้จะกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ สู่ภาคตะวันออก และจากภาคตะวันออกสู่ทุกภูมิภาค เมื่อรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบขยายไปทั่วประเทศ!

การพัฒนารถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยนั้น จะมีผลต่อการยกระดับปรับระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทั้งในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการลด ความเหลื่อมล้ำ ปมปัญหาที่หมักหมมมานานอย่างมีนัยสำคัญ!

การลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงในครั้งนี้ มุ่งเชื่อมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับโลกที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพและพลังเศรษฐกิจของไทยให้โลดแล่น จากการยกระดับเทคโนโลยีด้านการคมนาคมโลจิสติกส์ระบบราง ซึ่งจะทำให้ความก้าวหน้าไม่ถูกจำกัดไว้แค่เรื่องอากาศยาน-การบิน และการคมนาคมแบบเดิมๆ แต่ยังเพิ่มช่องทางคมนาคมและโลจิสติกส์ยุคใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21 ด้วย

กล่าวแบบสรุป ผลจากการมีรถไฟความเร็วสูงนี้ นอกจากจะสร้างความเชื่อมั่น-ดึงดูดการลงทุนทั่วโลกแล้ว ยังจะช่วยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเร่งยกระดับเศรษฐกิจ-สังคม-คุณภาพชีวิตโดยรวมไปสู่ความยั่งยืน รวมถึงช่วยจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเปิดประตูสู่การลดความเหลื่อมล้ำ หยุดการพัฒนาที่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองใหญ่ๆ ช่วยให้เกิดการกระจายเศรษฐกิจการลงทุน การค้า และยกระดับชุมชน

เช่นเดียวกับจีน ญี่ปุ่น หรือประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างเมืองในโลกวันนี้ แต่กรณีรถไฟความเร็วสูงของไทยเรา จะต่างจากที่อื่นก็ตรงที่ เราอาศัยเอกชนเข้ามาเป็นตัวช่วยในการสร้างและพัฒนา คู่ไปกับรัฐเท่านั้น ท้ายที่สุด ประชาชนและประเทศจะได้รับผลแน่ๆ ในทุกมิติที่ได้กล่าวข้างต้น