โลกตะวันออกกำลังเจิดจรัส... ขณะที่ภาคตะวันออกของไทยกำลังฝ่าฟัน

2 ธันวาคม 2562

ความเจริญก้าวหน้าของจีนได้สร้างขึ้นจากพลังภายในตัวเอง เชื่อมต่อกันเป็นสายใยผ่านกาลเวลา จากอดีตถึงปัจจุบันจนเจิดจรัส สว่างจ้าขึ้นในวันนี้ ส่องให้โลกตะวันออกเรืองรองฉายฉานขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคิดมาก่อน!

ความเคลื่อนไหวทางความคิด เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในกระแสการพัฒนาแบบของตัวเองของจีนนั้น มีหลักคิดแนวปฏิบัติของแต่ละผู้นำที่สืบทอดผ่านกาลเวลามากว่า 4 ทศวรรษ เริ่มตั้งแต่แนวคิด-แนวทางแบบ ความคิดเหมา เจ๋อตง ที่รวบรวมประเทศเป็นปึกแผ่น หลังใช้เวลายาวนานจัดการความแตกแยก-กระจัดกระจายของบ้านเมือง ซึ่งเมื่อการจัดการในช่วงเวลาของ "ประธานเหมา" เชื่อมเข้ากับ ทฤษฎีเติ้ง เสี่ยวผิง จีนก็เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับโลกต่างขั้ว นำพาประเทศสู่โลกยุคใหม่ จนต่อเข้ากับยุคเจียง เจ๋อหมิน ที่มีการพัฒนาและความเคลื่อนไหวในแบบ ความคิดภาพตัวแทน ที่ขับเคลื่อนจีนให้ก้าวหน้าไปอีกขั้นในการจัดการเศรษฐกิจสังคมตามแบบของจีน

จากนั้นก็ปรับเข้าสู่แนวทางการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ในยุคหู จิ่นเทา ซึ่งเป็นยุคที่มีการก่อร่างสร้างประเทศ เป็นยุคที่วิศวกรรมและการค้าปรับตัวก้าวหน้ารวดเร็ว เหมือนกับเตรียมตัวสู่ความเจิดจรัสใหม่ที่เข้าสู่จีนปัจจุบัน ตามแนวทางของ สี จิ้นผิง ที่มีการพัฒนาแบบ สังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์แบบจีนยุคใหม่ ที่มุ่งใช้เศรษฐกิจและเทคโนโลยีพัฒนาผู้คน เศรษฐกิจ สังคมสู่ความก้าวหน้าใหม่อย่างเป็นกระบวนระบบ!

จีนปัจจุบันในยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้นำประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางและเป้าหมายการปฏิรูป 5 ช่วงเวลาที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1990 ที่จีนได้เริ่มเปิดและปฏิรูปประเทศมุ่งขจัดความยากจน ให้ผู้คนมีกินมีใช้ และก้าวสู่ช่วงยุค 2 ค.ศ.1991 ถึง 2000 ที่เน้นการสร้างความกินดีอยู่ดี ปรับสภาพสังคมโดยรวมเข้าสู่ยุคที่ 3 ในช่วงปี ค.ศ.2001-2020 ที่ได้วางเป้าหมายว่า ปี 2020 จีนจะบรรลุการสร้างความกินดีอยู่ดีพอควรให้แก่คนทั้งประเทศ พร้อมกับจัดปรับการจัดการบริหารและการพัฒนาในหลายมิติอย่างน่าสนใจ

โดยเฉพาะการประสบผลสำเร็จในการขจัดความยากจนให้ประชาชนกว่าร้อยละ 70 หรือคิดเป็นผู้คนกว่า 740 ล้านคนลงได้ มีการใช้ระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ปรับสร้างเมืองและพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่กระจุกตัว กระจายไปทั่วประเทศ พร้อมกับยกระดับภาคการผลิต-การบริการด้วยเทคโนโลยียุคใหม่ที่มีศักยภาพสูง มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมให้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าต่างชาติ และได้สร้างเส้นทางการค้าเชื่อมต่อกับโลกทุกภูมิภาค จนทำให้ปัจจุบันจีนกลายเป็นประเทศที่ก้าวหน้าโดดเด่นและทันสมัยอย่างเหลือเชื่อ

จีนวางเป้าหมายว่า ในช่วงที่ 4 ในปี ค.ศ.2021 ถึง 2035 จีนจะพัฒนาประเทศให้บรรลุสู่ความทันสมัย ภายใต้การขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่หมายมั่นว่า ปี ค.ศ.2030 จีนจะเป็นผู้นำโลกในด้าน AI เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม ด้วยศักยภาพของเทคโนโลยียุคใหม่ ที่จะขับเคลื่อนให้จีนก้าวไกลกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อจะก้าวขึ้นเป็นประเทศสังคมนิยมมหาอำนาจสมัยใหม่ที่ร่ำรวย ประชาชนเป็นใหญ่ มีความเป็นเลิศทางวัฒนธรรม ความสมานฉันท์ และมีความสวยงาม ในปี 2550! นี่คือย่างก้าวที่มุ่งมั่นของพญามังกรแห่งโลกตะวันออกที่ฉายฉานเจิดจรัสน่าจับตายิ่ง!

ความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าของจีนในโลกยุคใหม่ ทำให้ต้องหันมาดูประเทศไทยวันนี้อีกครั้ง ที่มีภาคตะวันออกเป็นพื้นที่สำคัญ ในการมุ่งยกระดับประเทศด้วยโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่กำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมุ่งมั่น ผู้คนในพื้นที่รับรู้และเอาใจช่วยอย่างท่วมท้นทั้งที่ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา (ต่างจากคนนอกพื้นที่บางกลุ่ม NGO บางกลุ่ม และพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่แยกแยะความก้าวหน้าของประเทศออกจากเกมการเมือง)

แต่วันนี้ความมุ่งมั่นในการพัฒนา EEC ก็เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเป็นรูปประธรรม จากเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรม 12 กลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ วันนี้มีทั้งการปรับตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่เพื่อเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรม 4.0 และมีการยื่นขอการลงทุนถึงวันนี้สูงถึงกว่าแปดแสนล้าน! พร้อมกับการปรับสร้างสาธารณูปโภคตามแผนงานที่วางไว้ เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อยกระดับคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ให้ทันโลกยุคใหม่ เพื่อลดต้นทุนการคมนาคม-โลจิสติกส์และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พร้อมกับเดินหน้าสนามบินอู่ตะเภา ที่จะเชื่อมสู่การพัฒนามหานครการบินต่อไป และพัฒนา 3 ท่าเรือหลักคือ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือจุกเสม็ด และแหลมฉบังเฟส 3 เพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่การค้าขายระหว่างประเทศต้องพึ่งพาการขนส่งทางทะเลสูงถึงกว่าร้อยละ 70 รวมทั้งเร่งการพัฒนาระบบรางคู่ การขยายถนน-คมนาคมทางบกเชื่อมต่อกับเส้นทางทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

ความก้าวหน้าทั้งหมดนี้ เคลื่อนไปพร้อมกับการจัดปรับคุณภาพการศึกษาให้รับกับคุณภาพการพัฒนาทรัพยากร-ทักษะผู้คนยุคใหม่ ซึ่งดำเนินคู่กับการพัฒนาสังคม-ชุมชนท้องถิ่น การเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม การสาธารณสุข ฯลฯ

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยบูรพา ลงนามร่วมมือของบริษัทชั้นนำของโลก 9 บริษัทกับสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อผลิตและรับนักศึกษาเข้าทำงานกลุ่มแรกกว่า 30,000 คน ภายใน 5 ปีนี้ ไม่นับที่กำลังทยอยมาอีกต่อเนื่อง

วันนี้ความทุ่มเทที่เกิดขึ้นที่ตะวันออก ผู้คนในพื้นที่ได้ร่วมมือทุ่มเท-ร่วมแรงร่วมใจท่วมท้น เพราะรู้ดีว่าผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะช่วยให้ประเทศก้าวพ้นจากปัญหาที่รุมเร้าอยู่! นี่คือความมุ่งมั่นพยายามก้าวไปข้างหน้าของผู้คนตะวันออกเพื่อประเทศชาติโดยรวม.

โดย... อภิชาต ทองอยู่

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์