การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก นอกจากการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมและการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. ยังมีเป้าหมายด้านการพัฒนาชุมชนและสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชน ทั้งนี้ จังหวัดชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งผลิตผลไม้ของภาคตะวันออก ส่งออกไปยังตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ รัฐบาลจึงมีแนวคิดจัดตั้ง “ระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC” ให้เป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรภาคตะวันออกอย่างครบวงจร มีเป้าหมายให้ภาคตะวันออกของไทยเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูง เทียบเท่ากับ Food Valley ของเนเธอแลนด์

Cr ภาพโดย มติชน ออนไลน์
โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง มีพื้นที่ 37.6 ไร่ มีเป้าหมายให้เป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสากรรม หรือ กสอ. ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้น โดยระบุว่า จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางรวบรวมการค้าขาย, การส่งออก, การกระจายสินค้า และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลไม้ของไทย
ทั้งนี้ จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในห่วงโซ่อุปทานผลไม้ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชนที่เห็นประโยชน์ของโครงการทั้งด้านคุณภาพชีวิตและรายได้ของเกษตรกร ผู้เกี่ยวข้อง และคุณภาพผลไม้ไทย เพราะ EFC จะเป็นตลาดกลางสินค้าเกษตรที่เน้นสินค้าเกษตรพรีเมียม ส่วนผลไม้ตกเกรดก็จะรวบรวมจัดส่งให้โรงงานแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป นับเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคและยังเป็นการสร้างตลาดใหม่ๆ
นอกจากนี้ จะต้องมีสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์), ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าประเทศไทย (เอกซิมแบงก์) ที่พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ทั้งด้านการเงินและการส่งออก และต้องดึงพันธมิตรทางการค้าที่มีประสบการณ์ในการบริหารตลาดเช่น ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง มาร่วมลงทุนหรือเชื่อมโยงเข้ากับตลาดกลางของโครงการ EFC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดึงผู้มีประสบการณ์บริหารคลังสินค้า
สำหรับด้านการขนส่ง จะต้องดึงบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และบริษัทขนส่งต่างๆ เข้าร่วมเพราะมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารพื้นที่ให้เช่าคลังสินค้าทั้งแบบคลังสินค้าทั่วไปและคลังสินค้าห้องเย็น ซึ่งจะช่วยกระจายผลไม้และสินค้าการเกษตรอื่นๆ ไปยังประเทศต่างๆได้อย่างคล่องตัว
ขณะเดียวกันจะดึงบริษัทแปรรูปอาหาร และบริษัทเอกชนที่มีอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกันทางด้านผลไม้แปรรูปและอาหาร หรือบริษัทที่สนใจลงทุนใน EFC เข้ามาลงทุนในส่วน Processing Zone โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์จากการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในพื้นที่ รวมทั้งประสานบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพลงทุนในธุรกิจการบริหารตลาดกลาง ซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับการประมูลสินค้าเกษตร มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับบริษัทผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างๆ ซึ่งจะมีมีความน่าเชื่อถือในการบริหารงานดึงดูดให้ห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบใหม่ที่มีการเพิ่มคุณค่าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ต้องประสานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากรอำนวยความสะดวกในการส่งสินค้าออกจาก EFC สู่ตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์อำนวยความสะดวกด้านการค้าขายและส่งออก สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเขตการค้าเสรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาตรวจสอบและควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร และการให้บริการแบบ One Stop Service แก่ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EFC
สำหรับรูปแบบการจัดตั้ง EFC จะมีลักษณะเดียวกับการตั้งบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ดึงพันธมิตรจากหลายหน่วยงาน ทั้งบริษัทชั้นนำของประเทศ, สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษา ร่วมลงขันทั้งเงินลงทุนและความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อสร้างสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
การดำเนินงานของ EFC จะเป็นลักษณะกิจการค้าร่วม (Consortium) ซึ่งทำให้การบริหารงานของ EFC มีประสิทธิภาพและผลสำเร็จได้มากกว่า โดยภาครัฐจะเป็นเพียงผู้ร่วมก่อตั้งผลักดันให้เกิดขึ้นในช่วงแรก และจะประสานงานกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ EEC เข้ามาร่วมวิจัยพัฒนาการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น และทำวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตให้แก่เกษตรกร ทำให้ EFC เป็นตลาดกลางคล้ายๆ กับ Food Valley ของประเทศเนเธอร์แลนด์ และพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยอาหารได้ในอนาคต
เอกชนร่วมลงชันสร้างห้องเย็นขนาดใหญ่
สำหรับความคืบหน้าของโครงการนั้น สกพอ. ได้จัดเตรียมพื้นที่ขนาด 23 ไร่ ใน ต.มาบข่า อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง เพื่อสร้างห้องเย็นสำหรับจัดเก็บผลไม้ อาคารคลังสินค้า อาคารโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ อาคารสำนักงานด้านศุลกากรและชิปปิ้งพื้นที่แสดงสินค้า อาคารประมูลผลไม้ โดยจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในปี 2563
โครงการดังกล่าวจะมีเอกชนผู้มีส่วนร่วมในการลงทุนประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG) ที่ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการหน่วยแยกอากาศ (Air Separation Unit) กำลังผลิต 450,000 ตัน/ปี เพื่อผลิตก๊าซไนโตรเจนป้อนให้ห้องเย็นในโครงการ EFC ดังกล่าว ที่คาดจะดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2564 ขณะที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จะลงทุนในส่วนของคลังสินค้าและโลจิสติกส์ บรรจุภัณฑ์
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวจะนำระบบเกษตรสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการในส่วนของผลไม้ที่จะส่งเข้ามา โดยจะสามารถรองรับผลไม้ได้หลายแสนตัน เช่น เงาะ 1.51 แสนตัน ทุเรียน 3.43 แสนตัน สับปะรด 3.54 แสนตัน ขนุน 1 หมื่นตัน มะม่วง 2.6 หมื่นตัน มังคุด 1.19 แสนตัน ลองกอง 1.98 แสนตัน และจะมีกิจกรรมที่เกิดขึ้นอื่น ๆ อีก เช่น การประมูลผู้ส่งออก (exporterauction) ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (finished product) เป็นต้น
มาทำความรู้จักโครงการ "ระเบียงผลไม้ตะวันออก"
โครงการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อผลักดันให้ไทยเป็น “มหานครผลไม้โลก” ภายในปี 2564 ผ่านการพัฒนาคุณภาพและช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งสนับสนุนด้านการเงิน และทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น
• ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ผลไม้โดยเฉพาะผลไม้สดกลายมาเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกที่เพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2550 เป็น 1,674 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 หรือคิดเป็นการขยายตัวเฉลี่ยกว่า 21% ต่อปี ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับการส่งออกรวมของประเทศที่ขยายตัวเฉลี่ยราว 5% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
• ส่วนแบ่งตลาดของผลไม้ไทยในตลาดโลกพบว่า ยังไม่สูงมากนัก และยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
• การส่งออกผลไม้สดของไทย ยังกระจุกตัวอยู่เพียงผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันเกือบ 90% ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดทั้งหมด
• ตลาดส่งออกผลไม้ของไทยกระจุกตัวอยู่เพียง 2 แห่ง คือ ตลาดจีนและตลาดเวียดนาม (ส่วนใหญ่เป็นทางผ่านไปสู่ตลาดจีน) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออก
• การส่งออกผลไม้ของไทยกระจุกหรือขยายตัวด้านปริมาณเป็นหลัก สังเกตได้จากมูลค่าส่งออกผลไม้สดสำคัญ 3 อันดับแรกที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 26% ในช่วงปี 2557-2560 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นด้านปริมาณมากกว่าด้านราคา (ยกเว้นมังคุด)
• "ระเบียงผลไม้ตะวันออก" จะช่วยขยายตลาดส่งออกผลไม้ไทยให้กระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ที่เข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก อาทิ รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอาเซียน
• มีการสร้างคลังสินค้าห้องเย็น (cold storage) ขนาดใหญ่
• มีการจัดตั้งตลาดประมูลผลไม้ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ช่วยผลักดันราคาผลไม้ไทยให้สูงขึ้นได้
• มีการส่งเสริมการแปรรูปหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนต่างกำไรให้สูงขึ้น
• เพิ่มสัดส่วนการส่งออกผลไม้ที่หลากหลาย ควบคู่ไปกับอำนาจต่อรองราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกว่า 60% ของประเทศมีทางเลือกในการผลิตสินค้าเกษตร และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ที่มา https://www.facebook.com/smartfarmthailand/
https://www.prachachat.net/finance/news-139061
CR ภาพ : https://www.salika.co/