ระบบขนส่งฟีดเดอร์รถไฟความเร็วสูง...ปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

13 กุมภาพันธ์ 2563

เซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่มีมูลค่าโครงการรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท โดยมีกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตรเป็นผู้ชนะประมูล โครงการดังกล่าวมีระยะทางราว 220 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยเส้นทางช่วงการเดินทางในเมือง (สถานีดอนเมืองถึงสถานีสุวรรณภูมิ) และช่วงการเดินทางระหว่างเมือง (สถานีสุวรรณภูมิถึงสถานีอู่ตะเภา) โดยมีสถานีในภาคตะวันออก 4 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟฉะเชิงเทรา สถานีรถไฟชลบุรี สถานีรถไฟศรีราชา และสถานีรถไฟพัทยา

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเปรียบเสมือนเส้นทางหลักในการเดินทางโดยระบบรางระหว่างสถานีรถไฟบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลกับสถานีรถไฟในภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี การวางแผนคมนาคมระบบขนส่งเสริมหรือระบบขนส่งฟีดเดอร์ (feeder) เพื่อสนับสนุนการเดินทางเข้า/ออกสถานีรถไฟความเร็วสูงถือเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาโครงการไม่ควรมองข้ามเพราะระบบขนส่งฟีดเดอร์นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งมวลชนเดินทางเข้า/ออกจากจุดหมายปลายทางได้ในบริเวณที่กว้างขึ้นแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณการจราจรและลดมลภาวะจากการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลอีกด้วย

โดยทั่วไป การขนส่งทางรถยนต์และการขนส่งโดยระบบราง เช่น รถไฟฟ้า รถรางเบา (tram) ถือว่าเป็นการขนส่ง 2 รูปแบบ (mode) หลักที่ใช้ในการสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง  ซึ่งการขนส่งทางรถยนต์ถือเป็นรูปแบบที่ภาครัฐสามารถจัดการได้ในระยะสั้นโดยการจัดให้บริการยานพาหนะวิ่งตามเส้นทางที่สำคัญ รวมถึงการพัฒนาก่อสร้างถนนเส้นใหม่หรือขยายถนนเส้นเดิม

ส่วนระบบการขนส่งทางรางถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่างเช่น เมืองอาวีญง (Avignon) ในฝรั่งเศส ที่ใช้รถไฟฟ้าเข้ามาเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟความเร็วสูง Gare d’Avignon TGV  เข้าไปยังสถานี Gare d’Avignon Centre ซึ่งอยู่บริเวณเขตเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบขนส่งทางรางยังคงต้องใช้เวลาในการก่อสร้างรวมถึงงบประมาณที่ค่อนข้างสูงจึงเหมาะสำหรับการพัฒนาในระยะกลาง

เป็นที่น่ายินดีว่า เมืองพัทยาได้เริ่มการศึกษาการพัฒนาโครงการรถไฟรางเบา (tram) จากสถานีรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่ตัวเมืองพัทยา รวมถึงศึกษาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (Transit Oriented Development: TOD) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ อีไอซีมองว่า การวางแผนระบบขนส่งฟีดเดอร์เป็นสิ่งสำคัญที่ควรมีการเตรียมการสำหรับสถานีรถไฟความเร็วสูงทุกสถานี  ยกตัวอย่างเช่น  สถานีรถไฟศรีราชาที่ควรมีระบบขนส่งฟีดเดอร์ที่มีประสิทธิภาพเนื่องจากเป็นสถานีที่เชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ดิจิทัลปาร์ค รวมถึงที่อยู่อาศัยหนาแน่นในตัว อ.ศรีราชา

ในเบื้องต้นผู้พัฒนาระบบขนส่งฟีดเดอร์ควรจัดเส้นทางเดินรถและจำนวนรถที่เหมาะสม รวมถึงเตรียมพื้นที่สำหรับสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่จอดรถสาธารณะและส่วนบุคคลเพื่อจะรองรับการจราจรที่จะหนาแน่นมากขึ้นในอนาคต

การวางแผนระบบขนส่งฟีดเดอร์ที่เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งานของผู้โดยสารย่อมนำมาซึ่งการใช้ประโยชน์จากโครงการรถไฟความเร็วสูงรวมถึงเมกะโปรเจกต์คมนาคมอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด

โดย ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/6618