บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เกิดจากการรวมตัวของพันธมิตรธุรกิจ คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) หรือ CK, บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และยังมีพันธมิตรรายอื่นๆ เช่น Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development (ประเทศญี่ปุ่น) CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) Siemen (ประเทศเยอรมนี) Hyundai (ประเทศเกาหลี) Ferrovie dello Stato Italiane (ประเทศอิตาลี) CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) และธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น)
รายงานข่าวระบุว่า บริษัท รถไฟความเร็วสูงฯ มีพันธมิตรที่มีความเป็นมืออาชีพ ทั้งในรูปคอนซอร์เตียม เช่น บริษัท CRCC จากประเทศจีน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านวิศวกรรมการก่อสร้างขนาดใหญ่ มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคทุกประเภทถนน ทางด่วน อาคารขนาดใหญ่ และผลิตสายรถไฟกว่า 100,000 กิโลเมตร ทั้งรถไฟใต้ดิน Maglev และโมโนเรลซึ่ง CRCC ถูกจัดอันดับเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดระดับโลก อันดับที่ 58 ของ Fortune Global 500 ประจำปี 2561 อีกทั้งยังมี บริษัท อิตาเลี่ยนไทย และ ช.การช่าง ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีความสามารถในการก่อสร้างสาธารณูปโภคได้ทุกระบบ
นอกจากนี้ ยังมี บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านขนส่งและคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการบริหารจัดการโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า เช่น MRT สายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางซื่อ สายสีม่วง สถานีคลองบางไผ่-เตาปูน เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด่านและรถไฟฟ้า
ส่วนด้านการเงิน มีกลุ่มทุนทางการเงินที่แข็งแกร่งทั้งจากประเทศญี่ปุ่นและจีน ประกอบด้วย Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development : JOIN (ประเทศญี่ปุ่น) เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนขนาดใหญ่เพื่อสนับสนุนทางการเงินในแต่ละโครงการที่ JOINจะร่วมทุนกับเอกชน ธนาคารและสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนการเงิน และยังมีธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JBIC (ประเทศญี่ปุ่น) ธนาคารปล่อยกู้ด้านการลงทุนของรัฐ และ ยังมี CITIC Group Corporation (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่เทียบเท่าธนาคารกรุงไทย และมีการลงทุนในธุรกิจหลายประเภท ซึ่งหากเดินทางไปประเทศจีนจะเห็นป้ายโฆษณาของ CITIC ขึ้นอยู่ทุกเมือง
ส่วนกลุ่มซัพพลายเออร์ที่เข้าร่วมกับบริษัทรถไฟฯ ในครั้งนี้ล้วนเป็นผู้ผลิตตู้รถไฟที่ค่ายใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย Siemen (ประเทศเยอรมนี) ซึ่ง BTS , MRT และแอร์พอร์ตลิงก์ใช้บริการอยู่ในขณะนี้ รวมไปถึง Hyundai (ประเทศเกาหลี), CRRC-Sifang (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่ผลิตตู้รถไฟส่งขายทั่วโลก และยังผลิตให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเฉพาะรถไฟรุ่นใหม่ 4 สายที่มีการให้บริการตู้นอนด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Ferrovie dello Stato Italiane หรือ FS (ประเทศอิตาลี) ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐบาลถือหุ้น100% เชี่ยวชาญการบริหาร และบำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูง ที่สามารถทำกำไรได้ดีเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ โดยผลประกอบการในปี 2560 มีรายได้รวม 1.12 หมื่นล้านยูโร เป็นรายได้จากการเดินรถประมาณ 80-85% ซึ่งมีรายได้เฉพาะบริการรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ที่ 1,700 ล้านยูโร
อย่างไรก็ตาม ยังมี China Resources (Holdings) Company Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เน้นด้านการส่งออกของจีน ดำเนินธุรกิจหลากหลายทั้งพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ซึ่งบริษัทนี้จะช่วยให้แผนการพัฒนาพื้นที่ทั้งในและนอกโครงการเชื่อม 3 สนามบินเติบโตได้ด้วย
ดังนั้น จะเห็นว่าบริษัท รถไฟความเร็วสูงฯ มีความแข็งแกร่งมีความเป็นมืออาชีพ ตั้งแต่ด้านการก่อสร้างที่มีทั้ง CRCC, ITD และ CK ในด้านการเดินรถ ก็มี FS และ BEM ซึ่งมีเทคโนโลยีต่างๆ ด้านระบบราง และในด้านขบวนรถ มีเทคโนโลยีจากจีนซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีเทคโนโลยีจาก 4 ประเทศ เป็นผลจากการที่บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในจีนและมีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ประกอบด้วย บริษัท Kawasaki Heavy Industries ที่เรารู้จักกันว่ารถไฟชิงกันเซ็งของญี่ปุ่น บริษัท Bombardier แคนาดา บริษัท Siemens เยอรมนี และบริษัท Alsyom แห่งฝรั่งเศส ล้วนอยู่ที่ประเทศจีน
ในรายงานข่าวยังระบุว่า บริษัทฯ ได้เลือกให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาร่วมในส่วนงานการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (Transit-Oriented Development :TOD) เพื่อให้เกิดความต้องการในการเดินทางมาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่รอบๆ สถานี ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ที่จะมาหล่อเลี้ยงธุรกิจของรถไฟที่ไม่อาจจะอยู่รอดได้จากการขายตั๋วรถไฟเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้เนื่องจาก ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟที่ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง สามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้อย่างแม่นยำ และสถานีรถไฟฟ้าสำคัญๆ ในญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่ สะดวกสบาย มีร้านค้ามากมาย และสถานีรถไฟของญี่ปุ่นก็จะอยู่ใกล้สถานที่สำคัญ เช่น อาคารสำนักงาน สนามกีฬา ศูนย์การค้า เป็นต้น
ที่สำคัญการพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามเส้นทางรถไฟฟ้านั้นจะมองแค่ผลตอบแทนทางการเงินไม่ได้ แต่จะต้องมองถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม สังคมและชุมชนที่พึงจะได้รับด้วย
ที่มา: www.mgronline.com