MD รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเผยความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์

15 กุมภาพันธ์ 2563

หลังตั้งบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท และปิดดีลสัมปทาน 50 ปี กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เมื่อ 24 ต.ค. 2562
ล่าสุด กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย CP, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ได้จัดทัพผู้บริหารคุมงานก่อสร้าง โดยมี “นางโปง หง” บอสใหญ่จากประเทศจีนเป็น CEO และ คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ” ลูกหม้อเครือ ซี.พี. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่

คุณธิติฏฐ์ จบ ป.ตรี วิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คร่ำหวอดในธุรกิจโทรคมนาคม เคยเป็นผู้บริหาร ฮัทชิสัน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) ออกแบบซอฟต์แวร์เพจเจอร์ภาษาไทยคนแรกและเป็นผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มทรูที่ได้รับความไว้วางใจจาก “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” และ “ศุภชัย เจียรวนนท์” จึงได้นั่งเก้าอี้ MD ไฮสปีดเทรนคนแรกของประเทศไทย

“งานสร้างรถไฟความเร็วสูงเป็นอะไรที่ใหม่ ท้าทายมาก รถไฟต้องแข่งบริการและปลอดภัย ผลประโยชน์ผู้โดยสารต้องมาก่อน ไม่อยากให้คุณศุภชัยผิดหวัง”

งานแรกหลังเซ็นสัญญาคือเร่งออกแบบก่อสร้างทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งมอบให้การรถไฟฯใน 3 เดือน รัฐจะได้เวนคืน รื้อย้ายสาธารณูปโภคตลอดแนว 220 กม. โชคดีที่ทำงานล่วงหน้า จึงส่งแบบก่อนกำหนดเมื่อ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา

หากรัฐส่งมอบพื้นที่ได้เร็ว ถ้าโชคดีเราจะวางศิลาฤกษ์ได้เร็วสุดปลายปีนี้ การสร้างรถไฟเรื่องพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ จะสร้างแบบฟันหลอไม่ได้ ต้องสร้างทีเดียวทั้งเส้น

“ทำงานร่วมกับการรถไฟฯมาตลอด ทั้งเวนคืน รื้อย้าย ยากสุดคือย้ายท่อน้ำมัน เราเห็นความเอาจริงเอาจังของรัฐ ท่านปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานคณะทำงาน เราทำร่วมกับส่วนราชการถึง 21 หน่วยงาน และรัฐวิสาหกิจทีโอที กับ CAT ตอนนี้ทุกหน่วยรู้แล้วต้องย้ายอะไร ใช้งบฯเท่าไหร่ แบบที่เราส่งไปเหลือเรื่องรื้อย้าย หากช่วยกันทำอีอีซีจะเกิดได้เร็ว ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีรถไฟความเร็วสูง เป็นความภาคภูมิใจ”

ยกเครื่องแอร์พอร์ตลิงก์

การส่งมอบพื้นที่ส่วนแรกสถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ 28 กม. เพื่อบริหารแอร์พอร์ตลิงก์เดิม การรถไฟฯพร้อมส่งมอบทันทีหลังจ่ายค่าใช้สิทธิในการเดินรถ 10,671 ล้านบาท บริษัทที่ปรึกษาและ FS (บจ.Ferrovie dello Stato Italiane) พันธมิตรจากอิตาลีมาช่วยด้านโอเปอเรต กำลังทำแผนงานโครงการจะเสร็จอีก 2-3 เดือน จากนั้นจะประเมินการใช้งบฯลงทุน โครงสร้างบุคลากร ส่วนหนึ่งจะรับโอนจากแอร์พอร์ตลิงก์ที่มีอยู่ 500 คน และรับเพิ่มบางส่วน

“ผมลองใช้บริการจากสถานีบ้านทับช้างมาที่มักกะสัน คิดว่าต้องพัฒนาหลายจุด ทั้งซื้อรถเพิ่ม ปรับปรุงระบบราง อาณัติสัญญาณเพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงและสายที่ไปอีสานในอนาคตตามนโยบายของท่านประธานอาวุโส (เจ้าสัวธนินท์) และคุณศุภชัย ต้องเรียนรู้และทำให้ดีที่สุด”

ที่มา : https://www.prachachat.net/property/news-421016