ในเวทีเสวนา ว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนกับโครงการของอีอีซี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดชลบุรี มีผู้เข้าร่วมสัมมนามาจากภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง งานนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้พูดถึงโอกาส ความท้าทาย ผลกระทบ และการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน
มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น การเกิดขึ้นของอีอีซีจะทำให้เกิดการไหลเข้ามาของธุรกิจรายใหญ่ๆ แล้วธุรกิจรายย่อยโดยเฉพาะธุรกิจของชาวชุมชนจะอยู่อย่างไร ชาวชุมชนจะมีส่วนร่วมหรือจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาครั้งนี้หรือไม่ ผู้ประกอบการรายใหญ่จะเข้ามาสนับสนุนให้ธุรกิจรายย่อยเติบโตอย่างแข็งแกร่งไปพร้อม ๆ กันได้อย่างไร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการทำมาค้าขาย โดยตัวแทนชาวบ้านที่รวมตัวกันผลิตสินค้า “โอทอป” สินค้าพื้นถิ่นและเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้แก่ชาวชุมชนปีละไม่น้อย ได้นำเสนอความเห็นและข้อกังวลว่า สินค้าและบริการของพวกเขาจะได้ประโยชน์ จะต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องปรับตัวอย่างไร และจะมีโอกาสเติบโตไปพร้อมๆ กับอีอีซีได้อย่างไร
ทั้งนี้ ความคิดเห็นของชาวชุมชนท้องถิ่นในครั้งนี้ สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้บริหารซีพี เมื่อวันยื่นซองประมูลรถไฟความเร็วสูง ที่กล่าวว่า การพัฒนาในพื้นที่อีอีซี ต้องพัฒนาชุมชนให้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งในที่นี้หมายรวมถึงผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย และสินค้าของชาวชุมชนก็ควรได้รับโอกาสในการพัฒนานั้นด้วย
เมื่อมาดูถึงประเด็นของสินค้าโอทอป ซึ่งชาวบ้านรวมกลุ่มกันผลิตขึ้นมาจำหน่าย สร้างมาให้เป็นจุดขายของแต่ละพื้นที่ พร้อมๆ กับจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพราะกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่คือ นักนักท่องเที่ยวที่นอกจากมาเที่ยวชมธรรมชาติ ชมความงามของศิลปวัฒนธรรรมดั้งเดิมแล้วยังมีสินค้าพื้นเมืองติดไม้ติดมือกลับไปอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อเมืองขยายกลุ่ม ลูกค้าเปลี่ยน รูปแบบการค้าการขายเปลี่ยน ธุรกิจเปลี่ยน วัฒนธรรมในการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่หลั่งไหลเข้ามาแทนที่ การค้ารูปแบบเดิมจะอยู่อย่างไร จะต้องปรับตัวหรือไม่ สินค้าและบริการต้องพัฒนาเพื่อรับกับกลุ่มเป้าหมายใหม่หรือไม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ชาวชุมชนในพื้นที่ต้องหันมาพิจารณา และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เพราะเดิมการค้าขายสินค้าในวิถีชีวิตของชาวต่างจังหวัด ลูกค้าจะเป็นผู้เดินเข้าไปหาผู้ขาย เข้าไปในพื้นที่แล้วก็ถือโอกาสท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวบ้านไปด้วย
แต่ในอนาคตเมื่อกลุ่มคนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวอีกต่อไป จะกลายเป็นกลุ่มคนที่เข้าไปเพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งเชื่อว่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่านักท่องเที่ยวแน่นอน หากถามว่าโอกาสของสินค้าโอทอปมีหรือไม่สำหรับตลาดกลุ่มนี้ ตอบได้ว่า มี แต่รูปแบบการค้าขายต้องเปลี่ยน
เมื่อโอกาสของโอทอปมีอยู่ อีกทั้งซีพีก็มีแนวคิดที่จะต้องพัฒนาชาวชุมชนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาโครงการและต้องเติบโตไปด้วยกัน เพราะเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงให้บริการ ก็จะเกิด “เมืองใหม่” บริเวณรายรอบสถานีรถไฟธุรกิจการค้าจะคึกคักขึ้น และเป็นโอกาสดีของสินค้าของชาวชุมชนที่ต้องใช้โอกาสนี้เข้าไปเปิดตลาดสินค้าใหม่ๆ กับกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ
นี่จึงเป็นโอกาสที่ชาวชุมชนต้องเตรียมตัวพัฒนาสินค้าและบริการ สร้างจุดขายใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย สร้างตลาดใหม่ๆ เพื่อให้พร้อมรับปรับตัวและอยู่ได้อย่างยั่งยืนในยุคที่รถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเข้ามาช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวชุมชน แล้วเชื่อมั่นได้ว่าจะต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแน่นอน