พัทยา เดินหน้า ‘เมืองต้นแบบคมนาคม’ฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค

24 กุมภาพันธ์ 2563

เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่ตามแผนศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง หรือ Transit Oriented Development : TOD โปรเจ็กต์ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องร่วมกับอีก 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและพระนครศรีอยุธยา โดยมุ่งพัฒนา เมืองพัทยา ให้เป็น ‘เมืองต้นแบบคมนาคมอัจฉริยะแห่งภาคตะวันออก’ ตามโมเดลที่วางไว้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผน “พัทยา” จะสร้างโปรไฟล์ใหม่ได้เพิ่ม นอกเหนือจากการเป็นเมืองต้นแบบของการท่องเที่ยว แห่ง EEC

เมืองพัทยา กับฐานะว่าที่ เมืองต้นแบบคมนาคมแห่งบูรพาทิศ
เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วว่า เมืองพัทยา มีความพร้อมหลากหลายด้าน ทั้งการเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมทั้งยังมีศักยภาพพร้อมในการพัฒนาเป็นฮับการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่แห่งอนาคต เชื่อมโยงสู่อาเซียน จึงไม่น่าแปลกใจที่เมืองพัทยา จะเนื้อหอมในหมู่นักลงทุน โดยเฉพาะชาวจีนและอินเดีย ที่พร้อมนำเม็ดเงินมาลงทุนที่นี่ โดยมีมูลค่ารวมแล้วถึง 4 แสนล้านบาท และ 2 แสนล้านบาท ตามลำดับ และด้วยความตั้งใจที่จะทำให้พัทยาเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซี่ยนนี่เองที่ทำให้ทุกฝ่ายต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะโครงสร้างด้านคมนาคมให้พร้อม เพื่อเอื้อประโยชน์และดึงดูให้นักลงุทนต่างชาติมีความมั่นใจที่จะมาลงทุนในภูมิภาคตะวันออกของไทยมากขึ้น



ดังนั้น โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบคมนาคม หรือ TOD จึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภาเพื่อรองรับผู้โดยสารให้ได้ 3 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ เมืองพัทยา ยังไม่หยุดเดินหน้าพัฒนาธุรกิจบริการมาตรฐานสากลและแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก หลังติดอันดับ 18 ของจุดหมายปลายทางที่นักเดินทางทั่วโลกเดินทางมาท่องเที่ยว ปี 2561 ชี้วัดได้จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ถึง 14 ล้านคน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกอย่างต่อเนื่อง

เปิด 4 โซนพัฒนา พัทยา สู่เมืองต้นแบบคมนาคมครบวงจร ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์และธุรกิจ

นายเริงศักดิ์ ทองสม ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่ง และจราจร (สนข.) กล่าวว่า “เราได้คัดเลือกให้ เมืองพัทยา เป็นกลุ่มเมืองต้นแบบ TOD ประจำภาคตะวันออก เพราะมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของ EEC มีฐานการผลิตขนาดใหญ่ และทำเลที่ดีที่สุดเป็นประตูเปิดสู่การลงทุนในอาเซียน และจากการศึกษาของ สนข. ก็ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟเมืองพัทยา โดยแบ่งเป็น 4 โซน ตอบโจทย์ทั้งภาคเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ชุมชน และประชาชนในพื้นที่โดยรอบอย่างครอบคลุม”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวไว้ว่าจะแบ่งพื้นที่การพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็นต้นแบบด้านการคมนาคมอัจฉริยะ โดยแบ่งรูปแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟเมืองพัทยาไว้เป็น 4 โซน ดังนี้

โซนที่ 1 ย่านอาคารสำนักงาน ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์เอื้อต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกรูปแบบ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ เหมาะกับการพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งอาคารสำนักงานระดับภูมิภาค ที่ทำการหน่วยงาน สถานศึกษา ร้านค้าปลีก รองรับทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ไลฟ์สไตล์ของประชาชนทุกกลุ่ม

โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ โดยกำหนดให้ที่ตั้งติดสถานี ทำให้พื้นที่บริเวณนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ทั้งเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาครองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงโรงแรมธุรกิจ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และบริการแบบครบวงจร


โซนที่ 3 มหานครศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ครบวงจร ด้วยศักยภาพและความพร้อมของเมืองพัทยาในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาอย่างยาวนาน และในแต่ละปี ปริมาณนักท่องเที่ยวก็แทบจะไม่เคยลดจำนวนลงเลย จึงมีโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่งที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางการประชุม จัดแสดงและสัมมนา โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าระดับนานาชาติ โรงแรมที่จัดการประชุมขนาดใหญ่ได้ รวมถึงมีโรงแรมราคาประหยัดที่พร้อมรองรับทุกความต้องการ ในฐานะมหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TCEB หรือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ได้มอบ มาตรฐาน TMVS ที่ให้การรับรอง 3 ด้านแก่เมืองพัทยา ได้แก่

  • มาตรฐานสถานที่จัดงานประเภทห้องประชุม Meeting Rooms

  • มาตรฐานสถานที่จัดงานแสดงสินค้า Exhibition Venues

  • มาตรฐานสถานที่จัดงานประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venues ให้กับสถานประกอบการที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่พัทยาไปแล้วไม่น้อย




โซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัยสบาย ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ด้วยความสะดวกสบายด้านการคมนาคม เพราะอยู่ใกล้สถานีจึงเหมาะกับการพัฒนาให้เป็นย่านที่พักอาศัยที่มีคุณภาพมาตรฐาน ทั้งอาคารแนวราบ และอาคารแนวสูงราคาถูกที่ตั้งอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดี มีร้านค้าปลีกชุมชน และสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ครบถ้วนด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสันทนาการและมีความปลอดภัย เอื้อต่อการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

สุดท้ายแล้ว ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เมืองต้นแบบ TOD ของพัทยา ก็คือภาครัฐต้องกำหนดกรอบนโยบายการลงทุน รูปแบบการสนับสนุน และข้อกฎหมายที่สนับสนุนให้มีความชัดเจน การมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบ มีช่องทางในการสร้างรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ ตลอดจนทุกภาคส่วนมีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านต่างๆ ของโครงการ และมีรูปแบบารลงทุนที่มีความเป็นธรรม สอดคล้องกับลักษณธการพัฒนา TOD ในพื้นที่ และที่สำคัญ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญทีทไขไปสู่ความสำเร็จของโปรเจ็กต์นี้ได้ในที่สุด

ที่มา : www.salika.co/2020/02/14/pattaya-smart-transportation-city-model/