'ไฮสปีดเทรน' เดินหน้าแผนการก่อสร้าง เร่งเคลียร์สาธารณูปโภคพื้นฐานตามแนวรถไฟ

27 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน เดินหน้าทำแผนการก่อสร้างรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินส่งให้ ร.ฟ.ท. เรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา ระบุการจัดการพื้นที่ก่อสร้างได้รับความร่วมมือจาก 23 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทยอยเคลียร์ระบบสาธารณูปโภคตามแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟไฮสปีด หากส่งมอบได้ตามแผนสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2563
ภายหลังบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ลงนามในสัญญาร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ในการเข้าไปพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรรณภูมิ-อู่ตะเภา ) บริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างระบบราง สร้างสถานี และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ ซึ่งตลอดแนวเส้นทางการก่อสร้างของโครงการ ระยะทาง 220 กิโลมตร ร.ฟ.ท. จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน จำนวน 4,429 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่เวนคืน จำนวน 858 ไร่ พื้นที่ติดสัญญาเช่า จำนวน 258 ไร่ พื้นที่ว่างเปล่า จำนวน 3,103 ไร่ และพื้นที่ผู้บุกรุก จำนวน 210 ไร่
คุณธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด โดยยืนยันว่า บริษัทได้ส่งแผนการก่อสร้างในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างราง จุดที่ต้องรื้อย้ายสาธารณูปโภค ให้แก่ ร.ฟ.ท. ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน รวม 23 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรื้อย้ายสาธารณูปโภคที่กีดขวางในพื้นที่ตามแนวเส้นทารงกก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและพร้อมเร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามแผนการรื้อย้าย โดยจัดเตรียมงบประมาณในการดำเนินการไปแล้ว ซึ่งหากเป็นไปได้ตามแผน คาดว่าในปลายปี 2563 บริษัทฯ จะสามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้
อย่างไรก็ตาม ตามกรอบเวลาของการส่งมอบพื้นที่ที่กำหนดไว้นั้น อาจมีบางพื้นที่ส่งมอบล่าช้าสุดในระยะเวลา 2 ปี 3 เดือน คือ ช่วงพญาไท – ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร โดยช่วงนี้จะมีการก่อสร้างรางทั้งใต้ดินและบนดิน มีสิ่งปลูกสร้างที่กีดขวางและต้องนำออกจากเส้นทาง ได้แก่ ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ เสาตอม่อ อุโมงค์พักน้ำ บ้านพักอาศัยประชาชน เสาไฟฟ้าแรงสูง อาคารที่ทำการของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งล้วนต้องใช้เวลาดำเนินการรื้อย้าย
ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร นั้นแม้จะมีระยะทางไกลกว่า แต่การรื้อย้ายไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะใช้แนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งอยู่เดิม ยกเว้นบริเวณสถานีฉะเชิงเทรา ที่ต้องปรับเส้นทางไปจากแนวเดิม ราว 1.5 กิโลเมตร จึงต้องเวนคืนพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภคอยู่บ้าง
ในขณะที่ช่วงสุวรรณภูมิ - พญาไท ที่เป็นจุดให้บริการของแอร์พอร์ตลิงค์อยู่นั้น ไม่มีจุดที่ต้องรื้อย้าย เพียงแค่เข้าไปปรับปรุงการให้บริการและภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น อาทิ สถานีจอด ขบวนรถ ระบบอาณัตสัญญาณ เพื่อให้สามารถเดินรถได้ทั้งขบวนรถเก่าที่วิ่งให้บริการในปัจจุบัน และขบวนรถใหม่ที่จะซื้อเข้ามาให้บริการ
การรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามพื้นที่แนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ถือเป็นงานหิน ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆหน่วยงาน หากหน่วนงานใดล่าช้า ย่อมจะส่งผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงอย่างแน่นอน ซึ่งบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้น ตลอดจนต้องลงพื้นที่สำรวจ ให้คำแนะนำ รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้โครงการก่อสร้างรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินสำเร็จลุล่วงได้ตามเป้าหมายของประเทศ
ที่มา : TNN16