เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา) ได้เซ็นสัญญาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การสำรวจและเวนคืนที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้าง โดยการถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตอบข้อสังสัยในทุกประเด็น รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน
ทั้งนี้ ในรอบแรกเจ้าหน้าที่ของ ร.ฟ.ท. ลงพื้นที่พบผู้นำชุมชนและผู้บริหารท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 63 ได้พบปะชาวชุมชนที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองบ้านสวน อ.เมือง จ.ชลบุรี, วันที่ 16 ก.พ. 63 ที่ห้องประชุม โรงเรียนเทศบาล 1 บ้านหนองซากแง้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี, วันที่ 20 ก.พ. 63 ที่โรงเรียนอนุบาลเทศบาลเมืองหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และ วันที่ 21 ก.พ. 63 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลวังตะเคียน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินของรัฐมาร่วมรับฟัง และทีมวิศวกรโครงการทำหน้าที่ตอบคำถาม ซึ่งมีคำถามที่น่าสนใจของผู้นำชุมชนและผู้บริหารท้องถิ่นเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินทั้งเรื่องความชัดเจนแนวเวนคืนที่ดินการกำหนดค่าชดเชยเงื่อนไขการชดเชย ดังนี้

ถาม : อยากทราบเขตแนวที่จะเวนคืนที่ดินที่ชัดเจน?
ตอบ : แนวเขตยังไม่นิ่ง ยังให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะการกำหนดแนวเขตเวนคืนกำลังดำเนินการคู่ขนานไปกับการเปิดเวทีรอบแรก เพื่อชี้แจงกับผู้นำชุมชน เมื่อได้แนวเขตเวนคืนที่แน่ชัดแล้วจะเชิญเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนมาประชุมในรอบที่สอง และจะแจ้งผลการกำหนดราคาเวนคืนในการประชุมรอบที่สาม
ถาม : สัญลักษณ์กากบาทบริเวณจุดก่อสร้างบนแผนที่คือเขตแนวที่จะเวนคืนใช่หรือไม่?
ตอบ : ยังไม่ใช่ สัญลักษณ์กากบาทเป็นเพียง “หมุดอ้างอิง” เพื่อกำหนดพิกัด ยังไม่ใช่แนวเวนคืน
ถาม : ถ้ายังชี้แนวเวนคืนที่ชัดเจนไม่ได้ ก็ขอทราบกรอบที่แน่ชัดว่าขั้นตอนไหนจะเสร็จเมื่อใดบ้าง เพราะการประกอบธุรกิจมีห้วงเวลาของการผลิตสินค้าจะต้องวางแผนรองรับเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจ?
ตอบ : ขอมาแจ้งกรอบเวลาในการประชุมกับเจ้าของที่ดินในคราวหน้า แต่ที่แน่ๆคือโครงการจะต้องเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคมปี 64
ถาม : ในฐานะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเห็นว่าชุมชนที่ดูแลอยู่จะได้รับผลกระทบเรื่องทางระบายน้ำแน่นอน ต้องทำอย่างไร?
ตอบ : ยืนยันว่า โครงการคำนึงถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน ตัวอย่างเช่น เส้นทางสัญจรและทางระบายน้ำ ในขั้นตอนการสำรวจจะต้องเก็บข้อมูลเหล่านี้อย่างละเอียดแต่ถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ก็ขอให้รีบแจ้งมาโดยชาวบ้านจะเป็นคนแจ้งหรือเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นแจ้งก็ได้
ถาม : บางคนเช่าที่ดินสร้างบ้านพัก เช่น เช่าที่ดินของมัสยิดจะได้ค่าชดเชยหรือไม่?
ตอบ : กรณีเช่าที่ดินมัสยิด ต้องมีเอกสารมายืนยัน มัสยิดเซ็นรับรอง ก็จะได้ค่าชดเชยแน่นอน
ถาม : การชดเชย อ้างอิงราคาจากที่ใด?
ตอบ : คณะกรรมการประเมินราคาจะยึดราคาในปัจจุบันของพื้นที่นั้นๆ เช่น ราคาวัสดุก่อสร้างใน จ.ชลบุรี หรือถ้าใน จ.ชลบุรีไม่มีให้อ้างอิงจริงๆ ก็จะใช้ราคาใน กทม. ค่าแรงจะใช้ของสำนักงานงบประมาณในรอบล่าสุด นอกจากนี้ ยังมีการชดเชยอีกหลายรายการ ทั้งค่าขนย้าย ค่ารอบ้านใหม่ ค่าชดเชยธุรกิจ ค่าเดินทางมาทำสัญญา เป็นต้น ซึ่งเป็นการประเมินราคาเพื่อจ่ายเงินชดเชย ไม่ใช่เพื่อทำกำไรแก่ผู้ถูกเวนคืน แต่ชดเชยเพื่อความเป็นธรรม ยืนยันว่า ร.ฟ.ท. จ่ายค่าชดเชยในอัตราที่สูงกว่าหน่วยงานอื่นและใกล้เคียงกับราคาตลาด โดยจะมีตัวแทนท้องถิ่นซึ่งรู้ข้อมูลในพื้นที่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินราคาด้วย
ถาม : เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีตัวแทนชุมชนเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดราคา?
ตอบ : ต้องตั้งคณะกรรมการกำหนดราคาตามที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถให้ตัวแทนชุมชนเข้าร่วม แต่มีตัวแทนผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเป็นกรรมการอยู่แล้ว ชาวบ้านสามารถไปประชุมกลุ่มย่อยกันเองแล้วส่งมอบข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือข้อเสนอต่างๆ ผ่านผู้บริหารส่วนท้องถิ่นได้
ถาม : เป็นไปได้หรือไม่ที่การกำหนดราคาเพื่อชดเชยให้ชาวบ้านจะคำนวณเผื่ออนาคตไปอีก 10 ปี ทั้งราคาที่ดินและบางคนมีธุรกิจห้องเช่าที่จะทำกำไรจากการรองรับประชากรที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมอีอีซีแต่กลับต้องเสียโอกาส?
ตอบ : เป็นไปไม่ได้ จะต้องยึดราคาปัจจุบันเท่านั้น ส่วนเรื่องของการเสียโอกาสต่างๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคาเป็นรายกรณีๆ ไป
ถาม : ชาวบ้านบางคนเห็นว่าเป็นพื้นที่ว่างจึงเข้าไปปลูกเพิงเล็กๆ ในที่ดิน รฟท. เพื่ออยู่อาศัยบ้าง ขายของบ้าง จะได้รับเงินชดเชยหรือไม่?
ตอบ : การบุกรุกที่ดินของ รฟท. ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น แต่ก็มีมาตรการเยียวยาตามเหมาะสมเพื่อคุณธรรม แต่อย่าคาดหวังว่าจะได้เท่ากับคนที่ถูกเวนคืนที่ดิน
ถาม : ชาวบ้านที่อยู่ใกล้รางรถไฟจะถูกปิดทางเข้าออกบ้านหรือไม่?
ตอบ : จะพยายามให้กระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านน้อยที่สุด ทุกคนจะต้องเข้าออกบ้านได้
ถาม : ผู้ที่ได้รับค่าชดเชยจะต้องจ่ายภาษีหรือไม่?
ตอบ : บุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นภาษี แต่นิติบุคคล ห้างร้าน ต้องเสียภาษี
ถาม : เป็นไปได้หรือไม่ที่ชาวบ้านจะได้ถือหุ้นบางส่วนของเอกชนที่ได้สัมปทานโครงการ?
ตอบ : จะรับไปดูช่องทางของข้อกฎหมาย
ถาม : กรณีถูกเวนคืนที่ดินบางส่วนแล้วเจ้าของที่เห็นว่าส่วนที่เหลือไม่สามารถทำประโยชน์ได้แล้วจะร้องขอให้ รฟท. เวนคืนส่วนที่เหลือไปด้วยได้หรือไม่ และจะได้ราคาเดียวกันทั้งแปลงหรือไม่?
ตอบ : สามารถร้องขอได้และถ้าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันจะได้ราคาเดียวกัน แต่ ร.ฟ.ท. มีมาตรการจ่ายชดเชยให้แก่ที่ดินส่วนที่ไม่ถูกเวนคืนให้แก่เจ้าของที่แบบฟรีๆอยู่แล้ว เจ้าของสามารถเก็บที่ดินส่วนที่เหลือไว้ได้ แต่จะต้องพิจารณาก่อนว่าเข้าตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้
ถาม : ถ้าตัวบ้านหรืออาคารถูกเวนคืนบางส่วน จะขอให้เวนคืนทั้งหลังไปเลยได้หรือไม่?
ตอบ : ได้ แต่ต้องรื้อถอนจริงทั้งหลังด้วย ไม่เช่นนั้นจะถูก สตง.และสำนักงบฯตรวจสอบ
ถาม : เจ้าของที่ดินที่เพิ่งปลูกไม้ยืนต้นและถมดิน หลังการประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน จะได้เงินชดเชยค่าต้นไม้และค่าถมดินหรือไม่?
ตอบ : ทุกอย่างที่ดำเนินการหลังการประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืน จะไม่ได้รับเงินชดเชย หากจะทำอะไรช่วงนี้ที่เกี่ยวพันกับการกำหนดค่าชดเชย จะต้องขออนุญาตจาก ร.ฟ.ท. กรณีผู้เป็นเกษตรกรได้ทำสัญญาซื้อพันธุ์พืช ปุ๋ยฯ รวมถึงการทำสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อจะต่อเติมบ้าน ให้นำเอกสารหลักฐานแจ้งต่อคณะสำรวจที่จะลงพื้นที่ เพื่อส่งให้คณะกรรมการกำหนดราคาพิจารณาจ่ายเงินชดเชยให้ กรณีได้รับเงินชดเชยค่าถมดินไปแล้ว ห้ามขุดดินไปจำหน่ายหรือไปใช้ประโยชน์นอกที่ดิน ไม่เช่นนั้นจะต้องคืนเงินไม่เกินครึ่งหนึ่ง และมีความผิดอาญา

ถาม : ถ้าอยู่นอกแนวเวนคืน แต่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง จะได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง และสามารถขอให้ รฟท. ซื้อที่ดินนอกเขตเวนคืนได้หรือไม่?
ตอบ : กรณีนี้ไม่มีการชดเชยเป็นเงิน แต่มีมาตรการป้องกันต่างๆเพื่อลดผลกระทบ และก่อนเริ่มโครงการได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว กฎหมายเวนคืนดูแลไปไม่ถึงพื้นที่นอกเขต พ.ร.ฎ.เวนคืน หากประชาชนคิดว่าไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ต้องร้องเรียนต่อ ร.ฟ.ท. หรือศูนย์ดำรงธรรม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่นอกเขตเวนคืนสามารถร้องขอให้ ร.ฟ.ท. ซื้อที่ดินได้ แต่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับผลกระทบจากโครงการ จนไม่สามารถอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชนในที่ดินดังกล่าว
ถาม : แม้จะอ้างว่าได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่เวลามีโครงการก่อสร้างของภาครัฐทีไร เกิดผลกระทบทุกครั้ง?
ตอบ : จะมีศูนย์ควบคุมโครงการก่อสร้างตั้งอยู่ในจุดต่างๆ ถ้าใครได้รับความเดือดร้อนระหว่างการก่อสร้าง ให้ไปร้องเรียนได้ทันที
ถาม : ขอให้เปิดเว็บไชต์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ชาวบ้านสามารถเข้าไปคลิกดูที่ดินของตัวเองว่าถูกเวนคืนหรือไม่ ได้รับเงินชดเชยเท่าไหร่?
ตอบ : ยังไม่มีแนวทางเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบสารนิเทศ แต่ยืนยันว่าเมื่อสำรวจและพิจารณากำหนดราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทุกคนจะได้ทราบอย่างละเอียดแน่นอน แต่จะขอดูข้อมูลของคนอื่นไม่ได้
ถาม : ผู้ที่เช่าที่ดินทำธุรกิจจะได้เงินชดเชยหรือไม่?
ตอบ : ผู้ที่จะได้เงินชดเชยค่าที่ดินคือเจ้าของที่ดินเท่านั้น ส่วนผู้ที่เช่าที่ดินจะได้ชดเชยในเรื่องของค่าเช่าที่ดินในช่วงเวลาที่เหลือ เช่น ทำสัญญาเช่าเอาไว้ 10 ปี แล้วยังเหลือเวลาเช่าอีกกี่ปี ก็จะชดเชยเท่านั้น
ถาม : ทำนาจะได้ค่าชดเชยผลผลิตหรือไม่?
ตอบ : จะชดเชยเฉพาะไม้ยืนต้นเท่านั้น ไม่จ่ายชดเชยให้ต้นข้าว เพราะการทำนามีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวชัดเจน ราว 3-4 เดือน สามารถทำนาไปได้เรื่อยๆ แล้วพูดคุยตกลงกับเจ้าหน้าที่ว่าจะต้องเก็บเกี่ยวช่วงเดือนไหนบ้าง แต่กรณีโครงการแจ้งล่วงหน้าว่าจะต้องเข้าไปใช้ที่ดินเมื่อใด เจ้าของที่ดินก็จะต้องคำนวณเวลาการเพาะปลูกให้ดี ถ้าใครคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับการประเมินราคาพืชที่ปลูกเพื่อจำหน่าย ก็ยื่นเรื่องได้ เพราะเคยมีคดีตัวอย่างมาแล้ว ชาวบ้านปลูกต้นเตยหอมจำหน่ายเป็นอาชีพ สุดท้ายก็ได้ค่าชดเชยต้นละ 3 บาท และค่าเสียโอกาสอีกต้นละ 4 บาท รวมเป็นต้นละ 7 บาท
ถาม : ไปประมูลงานผลิตของส่งให้ภาครัฐเอาไว้ เกรงว่าจะได้ผลกระทบ ผลิตชิ้นงานไม่ทัน จะช่วยดูแลหรือไม่?
ตอบ : ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีว่ามีวงรอบการผลิตอย่างไร เอาข้อเท็จจริงมาคุยกัน ถ้าสมเหตุสมผล ร.ฟ.ท. ก็พร้อมจะจ่ายชดเชย
ถาม : กรณีข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่งบ้านต่างๆ จะได้รับค่าชดเชยหรือไม่?
ตอบ : หลักการง่ายๆ คืออะไรที่รื้อถอนแล้วเสียหายจะได้ค่าชดเชย ส่วนอะไรที่รื้อถอนแล้วไม่เสียหายจะได้เป็นค่าขนย้าย เช่น แอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ สามารถถอดแล้วไปติดตั้งที่ใหม่ได้ก็จะได้รับเป็นค่าขนย้าย ส่วนสุขภัณฑ์ โถส้วม เมื่อรื้อถอนจะแตกเสียหายก็จะประเมินราคาแล้วจ่ายชดเชยให้เลย
ถาม : เคยมีเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจแล้ว แต่ไม่ยอมให้เจ้าของที่ดินดูข้อมูล?ฒิพฬตอบ : ในวันลงสำรวจจะเก็บข้อมูลดิบ ยังต้องนำกลับมาจัดหมวดหมู่และสรุปอย่างละเอียด เพื่อพิจารณากำหนดราคาชดเชย รับรองว่าเมื่อเชิญเจ้าของที่ดินมาทำสัญญา จะเตรียมข้อมูลไว้ให้ดูอย่างละเอียดทุกรายการ สามารถนำกลับไปตรวจดูได้เต็มที่ หากมีรายการใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เห็นด้วย สามารถโต้แย้งได้ภายใน 90 วัน เช่น มุ้งลวดขาดไป 1 บาน ก็โต้แย้งได้ เมื่อเป็นที่พอใจแล้วค่อยเซ็นสัญญา แม้แต่ศาลพระภูมิเจ้าที่ก็ยังนำมาประเมินราคาเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้ด้วย
ถาม : ประกอบอาชีพปศุสัตว์ เมื่อต้องย้ายไปอาศัยที่อื่น อาจไม่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้อีก จะมีค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพหรือไม่?
ตอบ : กฎหมายไม่ครอบคลุมเรื่องการสูญเสียอาชีพ ต้องยื่นอุทธรณ์แล้วพิจารณาเป็นรายกรณี เพราะแต่ละกรณีมีรายละเอียดไม่เหมือนกันเคยมีกรณีที่สุวรรณภูมิเจ้าของที่ดินร้องศาลว่าสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ เพราะกำลังจะลงทุนค้าขายบนที่ดินศาลพิเคราะห์ว่าการจ่ายเงินชดเชยจะประเมินเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น
ถาม : ทำไมบ้านบางหลังได้รับหนังสือแจ้งแล้ว แต่บางบ้านไม่ได้ ทั้งที่อยู่ติดๆ กัน?
ตอบ : หลังจาก พ.ร.ฎ.เวนคืนออกมาแล้ว ร.ฟ.ท. ส่งเจ้าหน้าที่ไปเดินส่งหนังสือแจ้ง แต่ที่บ้านบางหลังยังไม่ได้หนังสืออาจมี 2 สาเหตุคือ รายชื่อที่ ร.ฟ.ท. ได้มายังตกหล่น ไม่ครบถ้วน และในวันที่ไปเดินส่งหนังสือแจ้ง เจ้าบ้านอาจไม่อยู่จึงไม่ได้รับหนังสือ ขั้นตอนจากนี้ก็คือเมื่อ ร.ฟ.ท. ได้รายชื่อมาครบถ้วนแล้ว ก็จะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบ้านทุกหลังที่อยู่ในแนวเวนคืนอีกครั้งหนึ่ง แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นขั้นตอนการแจ้งให้ทราบว่ามี พ.ร.ฎ.ออกมาแล้ว ยังต้องรอจนมีการสำรวจ จนปักหลักเขตทาง จึงจะรู้ว่าบ้านไหนโดนเวนคืนแน่นอน
ถาม : ถ้าเห็นว่าเงินที่ รฟท. จ่ายค่าชดเชยยังไม่เพียงพอ หาซื้อที่ใหม่ราคานี้ไม่ได้ จะให้ชาวบ้านทำอย่างไร มีที่ให้ย้ายไปอยู่ใหม่หรือไม่?
ตอบ : ถ้ารายใดไม่พอใจจำนวนเงินชดเชย สามารถอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณา
ถาม : รัฐจะมีแนวทางจัดสรรที่ดินใหม่ให้ชาวบ้านที่ถูกเวนคืนเข้าไปอยู่อาศัยหรือไม่ เพราะคาดว่าราคากลางที่รัฐจะชดเชยให้ จะต่ำที่สุดแน่ๆ?
ตอบ : ไม่มีแนวทางจัดหาที่ดินมาชดเชย แต่จะนำเรื่องนี้ไปเสนอให้
ถาม : ขอให้ชดเชยชาวบ้านอย่างเป็นธรรม ไม่อยากให้อิงราคาซื้อขาย ขอให้เห็นใจชาวบ้าน ควรชดเชยในอัตราที่ชาวบ้านเต็มใจที่จะรับเงิน เพราะบางคนเป็นที่ดินมรดกตกทอด ต่อให้ได้ 20 ล้าน เขาก็ไม่อยากขาย?
ตอบ : การประเมินค่าชดเชยไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ร.ฟ.ท. ทั้ง 100% แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนจาก ร.ฟ.ท. ที่ดิน ธนารักษ์ อำเภอ ท้องถิ่น พาณิชย์จังหวัด ซึ่งที่ดินพาณิชย์จังหวัดและท้องถิ่น จะเป็นกลไกสำคัญในการประเมินราคา ทั้งราคาที่ดิน อาคาร และต้นไม้ ซึ่งยังไงก็ต้องอิงราคาตลาด อย่างต้นไม้ก็ต้องดูขนาดลำต้น และดูว่าให้ผลผลิตรึยัง รฟท. เป็นเพียงที่ปรึกษา ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง ส่งให้คณะกรรมการพิจารณาประเมินค่าชดเชย ดังนั้น การเข้าสำรวจของเจ้าหน้าที่จึงสำคัญมาก เจ้าของที่ดินจึงควรจะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ข้อมูลมากที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน
ถาม : ที่บอกว่าจะรีบสำรวจเพื่อประเมินค่าชดเชยภายใน 6-8 เดือน แล้วชาวบ้านจะเอาเวลาที่ไหนไปหาที่อยู่ใหม่?
ตอบ : 6-8 เดือน เป็นเพียงขั้นตอนสำรวจ ยังจะมีขั้นตอนอื่นๆอีก เช่น การประเมินราคา ซึ่งโครงการนี้จะเร่งรัดให้จ่ายเงินถึงมือชาวบ้านอย่างรวดเร็ว
ถาม : เมื่อ พ.ร.ฎ.เวนคืน ออกมา ชาวบ้านทั้งหมดโดนระงับโฉนดที่ดิน นำไปใช้ประโยชน์ใดๆ ไม่ได้ แล้วถ้า ร.ฟ.ท. ใช้เวลาสำรวจเสร็จสิ้น 6-8 เดือนตามที่บอก โฉนดที่ดินที่ไม่โดนเวนคืนจะได้รับการปลดล็อคหรือไม่?
ตอบ : พ.ร.ฎ.เวนคืน มีระยะเวลา 4 ปี ยอมรับว่าจะเกิดผลกระทบกับชาวบ้านเกินกว่ากลุ่มที่ถูกเวนคืน จะขอนำประเด็นนี้ไปปรึกษาฝ่ายกฎหมายให้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่
ถาม : กรณีที่ให้ผู้อื่นเช่าบ้าน แต่ไม่มีหนังสือสัญญาใดๆ ถ้าถูกเวนคืนที่ ผู้เช่าจะได้รับการเยียวยาหรือไม่?
ตอบ : การประเมินทุกอย่างจะดำเนินการโดยมีเอกสารยืนยันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น และถ้าจะไปทำธุรกรรมหรือสัญญาใดๆหลังจาก พ.ร.ฎ.เวนคืน ออกมาแล้ว ก็ย่อมไม่ครอบคลุม
ถาม : ผู้ที่ลงทุนประกอบธุรกิจค้าขาย มีทั้งรายได้และภาระหนี้สินต่างๆ รัฐจะชดเชยอย่างไร?
ตอบ : คมนาคมมีแนวทางในการประเมินค่าชดเชยที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกโครงการ ขอให้เจ้าของที่ทุกคนเก็บรวบรวมหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจ ส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ที่ลงไปสำรวจ
ถาม : ถ้าซื้อบ้านเอาไว้แล้วกำลังผ่อนกับธนาคาร แต่เกิดถูกเวนคืนตอนนี้ จะได้เงินชดเชยครอบคลุมครบถ้วนหรือไม่ หรือยังต้องมีภาระไปผ่อนชำระกับธนาคารอีก ทั้งที่บ้านถูกเวนคืนไปแล้ว?
ตอบ : ถ้ามีเอกสารหลักฐานชัดเจนว่าบ้านราคาเท่าไหร่ ผ่อนชำระกับธนาคารเท่าไหร ก็ไม่ต้องห่วง ได้ค่าชดเชยครอบคลุมแน่นอน
ถาม : ที่บอกว่าความกว้างของแนวรางรถไฟกินพื้นที่ 40 เมตร หมายถึงจากศูนย์กลางไปข้างละ 40 เมตร หรือข้างละ 20 เมตร (รวมเป็น 40 เมตร)?
ตอบ : แนวรางกินพื้นที่ข้างละ 20 เมตร
ถาม : ถ้าถูกเวนคืนที่ดินไปแล้ว แต่สุดท้ายแล้วรัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินนั้น ชาวบ้านสามารถขอที่ดินกลับคืนได้มั้ย?
ตอบ : พ.ร.บ.เวนคืน 2562 เพิ่มมาตราที่เปิดให้โอกาสให้ประชาชนยื่นเรื่องขอคืนที่ดินที่ถูกรัฐเวนคืนกลับมาได้ ถ้าเห็นว่าที่ดินไม่ถูกใช้ประโยชน์ แต่จะต้องคืนเงินชดเชย และต้องรอให้โครงการก่อสร้างเสร็จสิ้น100% แล้ว โดยต้องยื่นเรื่องภายใน 5 ปี หลังโครงการเสร็จสิ้น
ทีมา : https://www.salika.co/