“ไฮสปีด” ยังติดปัญหาเวนคืนที่ดิน ร.ฟ.ท.เตรียมเคลียร์พื้นที่ไล่ผู้บุกรุถก ลุ้นตอกเข็มปี’64

10 มีนาคม 2563

ยังคงติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องสำหรับการส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 225,544 ล้านบาท ที่มีคุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทวงคมนาคม เป็นทัพหน้าเคลียร์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหวังว่าส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือ กลุ่ม ซี.พี. เพื่อให้เริ่มงานโดยเร็ว แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีข่าวดีในปีนี้ ว่ากันว่าอย่างน้อยน่าจะ 1 ปีครี่งจะเริ่มตอกเข็มต้นแรกได้

ซี.พี.ขอเวนคืนเพิ่ม 3 จุด
คุณชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยผลการประชุมครั้งที่ 2/2563 ว่าจากการประเมินงบประมาณสำหรับการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคตลอดเส้นทาง วงเงินอยู่ที่ 4,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบเดิมที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) อนุมัติตามที่ประเมินไว้ 409 ล้านบาท ดังนั้น จึงจะต้องขออนุมัติจากบอร์ด อีอีซี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการขยายกรอบเพิ่มเติมเพื่อจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการต่อไป



“ซี.พี. ส่งร่างแผนแบบก่อสร้างเบื้องต้น โดยเสนอขอเวนคืนที่ดินเพิ่ม 3 จุด เพื่อขยายแนวเขตทางจาก 25 เมตร เป็น 40 เมตร ช่วงสะพานข้ามแม่น้ำบางประกง อุโมงค์เขาชีจรรย์ และช่วงเข้าสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจากการพิจารณาในเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องทำรายงานวิเคราะห์ผลประทบด้านสื่งแวดล้อม หรือ EIA เพิ่มเติม เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้าง แต่เป็นการขอใช้พื้นที่เพิ่มเติมสำหรับวางเครืองจักรอุปกรณ์เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ได้ได้ให้ ซี.พี.กลับไปทำเหตุผลความจำเป็นตามหลักวิศวกรรมและการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในการก่อสร้าง และสิ่งจำเป็นตามโครงการรายละเอียด ให้ได้ข้อยุติภายในวันที่ 16 มีนาคม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนเวนคืนต่อไปและจะต้องให้ที่ปรึกษาของการรถไฟฯ ตรวจสอบความเป็นไปได้อีกด้วย

รื้อท่อน้ำมัน – สายไฟฟ้า กฟภ.
สำหรับการรื้อท่อน้ำมันของ บจ.ขนส่งน้ำมันทางท่อ (FPT) ตามแผนจะย้ายจากฝั่งตะวันออกไปอยู่ที่ฝั่งตะวันตกของเขตทางรถไฟ โดย FPT จะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยต้องประสานงานกับ การรถไฟฯ เพื่อดำเนินการเรื่องรูปแบบการดันท่อลอดข้ามแนวเส้นทาง ซึ่งตรงจุดนี้บริษัทจะต้องทำรายงาน EIA เพิ่มเติม เพราะการวางท่อเดิมของบริษัทเกิดขึ้นก่อนมีกฎหมาย EIA

ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคของค่ายลูกเสือวชิราวุธ จ.ชลบุรี การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายแล้วอยู่ที่ 3 ล้านบาท ขั้นตอนต่อไป สำนักงานลูกเสือแห่งชาติจะทำเรื่องของบประมาณจากสำนักงบประมาณ เพื่อขอจ้าง กฟภ.ดำเนินงานในลักษณะ G to G ตามขั้นตอนต่อไป

คุณชัยวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า ซี.พี. ยังได้ส่งมอบกรมธรรม์สำหรับโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ ให้ ร.ฟ.ท. ไปแล้วเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการพูดคุยถึงการจ่ายค่าใช้สิทธิ์ในการบริหาร 10,671 ล้านบาทแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างยังไม่มีการกำหนดว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่และเริ่มสร้างได้เมื่อใด

“ได้ให้แนวคิดไปว่า ไม่จำเป็นต้องให้การส่งมอบพื้นที่สมบูรณ์ 100% ถ้าส่วนใดพร้อมให้เริ่มเข้าพื้นที่ได้ทันที คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ทันตามกำหนดที่เคยทำแผนไว้ 3 ช่วง คือ 1.สถานีพญาไท-สุวรรณภูมิ พร้อมส่งมอบทันที 2.สถานีสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 170 กม. ส่งมอบภายใน 2 ปี แต่เร่งให้ได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน และ 3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง 22 กม.ส่งมอบภายใน 4 ปี จะเร่งให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี 3 เดือน”

เวนคืนไล่ผู้บุกรุกจบปี’64
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมยังติดตามความคืบหน้าของการเวนคืนที่ดินของ ร.ฟ.ท. โดย ร.ฟ.ท. ได้ส่งหนังสือขอเข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 50 หลังคาเรือนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดได้ในเดือนมกราคม 2564 แต่หากมีกรณีฟ้องร้องเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้เดือน ต.ค. 2564

ส่วนการโยกย้ายผู้บุกรุก ที่มีอยู่รวม 1,352 หลังคาเรือน แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้บุกรุกที่กีดขวางแนวเส้นทาง 498 หลังคาเรือน กลุ่มผู้บุกรุกที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางแต่ไม่กีดขวาง 417 หลังคาเรือน และกลุ่มผู้บุกรุกใต้โครงสร้างของแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่ไม่กีดขวาวแนวเส้นทาง 437 หลังคาเรือน

ตามแผนงานคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วช่วงลาดกระบัง-อู่ตะเภา ได้ก่อนเดือน ก.ย. 2563 แต่หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ในช่วงเดือน ม.ค. 2564 แทน ขณะที่ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ในเดือน ธ.ค. 2563 แต่หากมีการฟ้องร้อง คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่และล้อมรั้วได้ภายในเดือน เม.ย. 2564

ท่อน้ำมัน FPT ย้ายเสร็จปี’ 66
ขณะที่การย้ายท่อน้ำมันของ FPT มีรายงานเพิ่มเติมว่า จะประสานงานกับที่ปรึกษาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (missing link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง เพื่อกำหนดตำแหน่งวางท่อที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ได้มีการวางไทม์ไลน์ไว้ว่าจะสำรวจออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. นี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำรายงาน EIA อีก 1 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2564 ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างอีก 1 ปี และได้ตัวผู้รับจ้างในดือน มิ.ย.2565 เพื่อเริ่มก่อสร้าง ซึ่งการย้ายท่อน้ำมันจะใช้เวลาอีก 1 ปี โดยรวมแล้งคาดว่าจะดำเนินการย้ายท่อเสร็จในเดือน มิ.ย.2566 และส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน ก.ค. 2566

สาธารณูปโภคขวางอีก 10 จุด
นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการนี้จะกระทบกับการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคของ “กิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ” ในเบื้องต้นมีทั้งสิ้น 10 จุด ได้แก่ 1. ภายในวิทยาลัยเกษตรกรรมชลบุรี 2. ภายใน ซ.วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร 3. ภายใน ซ. หนองจับเต่า 4.ภายใน ซ.สวนนงนุช 5. ภายใน ซ.เนินสามัคคี 6. ภายใน ซ.เนินสามัคคี-ห้วยตู้ 7. ภายใน ซ.โค้งวัดเพ็ญ-สวนลุงกลอน 8.ภายใน ซ.พลูตาหลวง 46 9.บริเวณเลยปั๊มน้ำมัน ปตท.เขาบายศรี ถ.331 และ 10. ภายใน ซ.พลูตาหลวง 37 รวมระยะเวลาที่จะดำเนินการประมาณ 6 เดือน โดยมีกรอบวงเงินรวม 31.2 ล้านบาท

ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 9-11 มี.ค.2563