โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของการส่งมอบพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง
คุณวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างออกหนังสือชี้แจงไปยังหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภค ซึ่งมีรวมทั้งหมด 10 หน่วยงาน เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพื่อให้ทุกหน่วยงานเริ่มการรื้อย้ายสาธารณูปโภค และจัดเตรียมพื้นที่ส่งมอบให้แก่กลุ่มซีพี โดย ร.ฟ.ท. มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภาให้กลุ่มซีพีนำไปก่อสร้างช่วงแรกในเดือนมกราคม 2564
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. ได้เคลียร์ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการส่งมอบพื้นที่แล้วเสร็จ ซึ่งประกอบไปด้วยการเวนคืนที่ดิน ขณะนี้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร, อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ, อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา, อ.เมืองชลบุรี อ.ศรีราชา อ.บางละมุง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พ.ศ. 2562
ส่วนปัญหาการบุกรุกเบื้องต้น ร.ฟ.ท. ได้ลงสำรวจพื้นที่และจัดเก็บข้อมูลทะเบียนในการขอคืนพื้นที่แล้ว เหลือเจรจากับประชาชนให้ย้ายออก และส่วนสุดท้ายคือ การรื้อย้ายระบบสาธารณุปโภค ปัจจุบันเริ่มดำเนินการได้แล้ว ภายหลังคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้อนุมัติงบประมาณรื้อย้าย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเจรจากับหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปภโภคเพื่อทำการรื้อย้ายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“การเตรียมพื้นที่มีส่วนประกอบอยู่ 3 อย่าง คือ เรื่องสาธารณูปโภค ปัญหาบุกรุก และเวนคืนที่ดิน ซึ่งทั้งหมดนี้เราแก้ไขได้แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้นถ้าให้ประเมินการทำงานตอนนี้ ถือว่าเป็นไปตามกรอบกำหนดที่ตั้งไว้”
ทั้งนี้ ที่ดินแปลงแรกที่ ร.ฟ.ท. เตรียมส่งมอบช่วงแรกคือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาบุกรุกและปัญหาสาธารณูปโภคน้อยที่สุด ซึ่งตามกรอบกำหนดส่งมอบในเดือนมกราคม 2564 ถือว่าเป็นไปตามแผนงาน ส่วนพื้นที่ส่งมอบระยะต่อไปคือ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562
สำหรับชงบประมาณรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคที่ ร.ฟ.ท. ขออนุมัติกว่า 4,000 ล้านบาท เพื่อใช้ก่อสร้างทดแทนสาธารณูปโภคที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อย้ายดำเนินโครงการนี้ เช่น ระบบไฟฟ้า ประปา และท่อระบายน้ำของ กทม. รวมถึงสายไฟแรงสูงของค่ายลูกเสื้อใน จ.ชลบุรี คาดว่าจะใช้งบประมาณรื้อย้ายราว 3 ล้านบาท
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า ภายหลัง กพอ.อนุมัติงบประมาณรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคได้เริ่มจัดซื้อจัดจ้างเอกชนเข้ามารื้อย้ายและเตรียมพื้นที่แล้ว โดยงานในส่วนนี้ไม่ถือเป็นเรื่องหนักใจของการเตรียมการส่งมอบพื้นที่ แต่ปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อการเตรียมการส่งมอบพื้นที่ คือ ปัญหาการบุกรุก เพราะหาก ร.ฟ.ท.ไม่สามารถเจรจากับประชาชนได้ ก็จำเป็นต้องใช้เงื่อนไขทางกฎหมายและจะส่งผลให้เป้าหมายส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อาจล่าช้ากว่าเดือนมกราคม 2564 ที่ตั้งไว้
ทั้งนี้ การส่งมอบพื้นที่มีอีกหลายเงื่อนไขไม่ใช่เพียงการเตรียมความพร้อมเคลียร์ระบบสาธารณูปโภค แต่รวมไปถึงเวนคืนที่ดิน แก้ปัญหาผู้บุกรุก เพราะกลุ่มซีพีต้องการที่ดินที่สามารถนำไปพัฒนาโครงการได้ ดังนั้นพื้นที่ที่จะส่งมอบก็จำเป็นต้องเป็นที่ดินแปลงใหญ่ โดยที่ผ่านมากลุ่มซีพีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมของพื้นที่แต่ละจุดแล้ว ทั้งส่วนที่ส่งมอบได้ทันที คือ พญาไท-สุวรรณภูมิ แต่ส่วนนี้กลุ่มซีพีจะต้องชำระค่าสิทธิ์ในการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ท เรลลิงค์ ก่อนจึงจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ได้
นอกจากนี้ ตามกรอบกำหนดแผนการส่งมอบพื้นที่ ร.ฟ.ท. บรรจุไว้ในแนบท้ายสัญญาระบุว่า ร.ฟ.ท.จะทะยอยส่งมอบพื้นที่ออกเป็นส่วนคือ
1.พื้นที่ที่มีความพร้อมส่งมอบได้ทันที ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา คาดว่าจะใช้ระยะเวลาส่งมอบแล้วเสร็จภายในประมาณ 1 ปีกว่า
2.ช่วงโครงการ แอร์พอร์ต เรล ลิงค์ มีความพร้อมและส่งมอบแล้วเช่นกัน แต่มีเงื่อนไขว่าเอกชนจะต้องจ่ายค่าโอนสิทธิ์ในการบริหารประมาณ 1 หมื่นล้านบาทให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกรอบกำหนดอีกว่าจะต้องจ่ายให้ครบทั้งหมดภายใน 2 ปี นับจากวันลงนามในสัญญา
3. พื้นที่ที่ยังไม่พร้อมส่งมอบ เนื่องจากยังมีระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญต้องใช้เวลาเคลื่อนย้าย เช่น ท่อน้ำมัน รวมทั้งปัญหาผู้บุกรุก คือ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง คาดว่าจะใช้เวลาทะยอยส่งมอบให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา
อย่างไรก็ดี ภายหลังลงนามในสัญญา ร.ฟ.ท. และกลุ่ม ซีพี จะสามารถเข้าพื้นที่เพื่อเคลัยร์ปัญหา และเตรียมความพร้อมของพื้นที่ก่อสร้างได้ทันที ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 หน่วยงานได้เข้าพื้นที่เพื่อสำรวจที่ดินแล้ว
ส่วนระบบสาธารณูปโภคที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ของพื้นที่ช่วงพญาไท ในส่วนท่อน้ำมัน ของบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT)ปัจจุบันได้ข้อสรุปแล้วว่าจะมีการรื้อย้ายท่อน้ำมันดังกล่าวจากฝั่งตะวันตกไปฝั่งตะวันออก โดย FPT จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายเอง
นอกจากนี้ FPT จะต้องจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ การติดตั้งท่อน้ำมัน มีมานานก่อนกฎหมายกำหนดให้ทำ EIA ซึ่งจะจัดทำเพียงส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
โดย วรรณิภา จิตตินรากร : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
https://inews.bangkokbiznews.com/