โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย จึงถือเป็น “โครงการพื้นฐานหลัก”
ในการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้มีผลเป็นรูปธรรม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกัน ยังนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ซึ่งประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทาน เนื่องจากกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาทสำหรับการลงทุน โดยที่เอกชนได้ยื่นเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ บุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีความเชี่ยวชาญที่สูงขึ้น และมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ ทั้งยังเป็นโครงการสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ในภาคตะวันออก และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องโดยรอบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินจึงถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง