รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ( Suvarnabhumi Airport Rail Link) หรือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์

รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ( Suvarnabhumi Airport Rail Link) หรือ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ เดิมอยู่ในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพ มหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ภายหลังรัฐบาลให้โครงการนี้มาเป็นโครงการเร่งด่วนและแยกการก่อสร้างต่างหากจากระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553 โดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมารัฐบาลได้มีการรวมรถไฟฟ้าสายนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จึงมีการเปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ภายใต้สัญญาว่าจ้างดำเนินงานจาก บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด โดยเริ่มในปี พ.ศ. 2564



ลักษณะการให้บริการ

  • เป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดหนัก (heavy rail transit)
  • ทางวิ่ง ยกระดับที่ความสูง 20 เมตรตลอดทั้งโครงการ ยกเว้นช่วงเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าจะลดลงเป็นระดับดินหลังข้ามถนนสุวรรณภูมิ 2 แล้วลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (European standard gauge) โดยมีสายไฟฟ้าแรงสูงตีขนานอยู่เหนือราง ระบบรถไฟฟ้าใช้วิธีการรับไฟฟ้าจากด้านบนด้วยแพนโทกราฟ
  • ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.8-3.7 เมตร ยาว 20 เมตร สูงประมาณ 3.7 เมตร ความจุ 250-300 คนต่อคัน ต่อพวงได้ 3-10 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ 25 กิโลโวลต์ 50 เฮิรตซ์ ส่งจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยบางกะปิของการไฟฟ้านครหลวงเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ


บริการอื่นๆ

  • ที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร มีพื้นที่จอดรถสำหรับการจอดรถให้ทุกสถานี และมีพื้นที่สำหรับการจอดรถแบบรายวัน ที่สถานีมักกะสัน ซึ่งสามารถจอดได้ประมาณ 500 คัน
  • ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว มีบริการศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและซื้อสินค้าที่สถานีพญาไท (ใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท) สถานีมักกะสัน และสถานีสุวรรณภูมิ (โดยกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)
  • ศูนย์การค้า มีบริการร้านค้าและร้านอาหารภายในสถานีทุกแห่ง อย่างไรก็ตามไม่อนุญาตให้นำเข้าในบริเวณพื้นที่ตรวจบัตรโดยสารแล้ว
  • ธนาคารและจุดแลกเงินตรา มีบริการธนาคารสาขาของ ธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงไทย ที่สถานีสุวรรณภูมิ และมีบริการจุดแลกเงินตราต่างประเทศที่สถานีพญาไท และสถานีสุวรรณภูมิ
  • ตู้ถอนเงิน มีบริการตู้ถอนเงินทุกสถานี จากหลากหลายธนาคาร ปัจจุบันมี 6 ธนาคาร
  • โทรศัพท์ ในอดีตโครงการมีบริการโทรศัพท์จากทีโอทีให้บริการในสถานี นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ เอไอเอส, ดีแทค และ ทรูมูฟ เอช ในการวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3G และ 4G ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และมีบริการ Free Wi-Fi on Station และ Charging Station โดยความร่วมมือกับ กสท. โทรคมนาคม และ ทีโอที ให้ผู้โดยสารสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ฟรีขณะรอรถไฟฟ้าบนสถานี
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มียอดผู้โดยสารสูงสุดต่อวันที่จำนวน 95,771 คนต่อวัน และเดือนมีนาคม 2562 ทำสถิติผู้โดยสารสูงสุดต่อเดือนที่จำนวน 2,303,093 คน ทั้งนี้ เนื่องจาก รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ทั้ง 9 ขบวนมีความเสถียรในการให้บริการ ทำให้สามารถรองรับความต้องการใช้บริการของผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งปรับความถี่ในการเดินรถไฟฟ้า ในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น วันจันทร์ – ศุกร์ เป็น 8.30 นาที

ที่มาข้อมูล :Wikipedia
Cr. Photo : http://www.srtet.co.th/